วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (Wat Arun Ratchawararam Ratchawaramahawihan) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า วัดอรุณฯ เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน แถมยังตั้งเด่นเป็นสง่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา จนกลายเป็นสัญลักษณ์ความสวยงามที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก อีกทั้งยังเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามประเมินค่าไม่ได้ โดยมีคติความเชื่อที่ว่า หากได้ไปไหว้พระวัดอรุณฯ ชีวิตจะรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน วันนี้เราเลยถือโอกาสพาเพื่อน ๆ ไปท่องเที่ยวพร้อมทำความรู้จักกับวัดอรุณ ราชวรมหาวิหาร ให้มากขึ้นกัน
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ประวัติและความเป็นมา
วัดอรุณฯ นั้นเป็นวัดโบราณที่มีอยู่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยแรกเรียกว่า วัดมะกอก ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งพระเจ้าตาก (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ท่านทรงนำกองทัพมาเพื่อเลือกชัยภูมิในการก่อสร้างราชธานีใหม่ โดยพระองค์ทรงเสด็จฯ ถึงวัดมะกอกในเวลารุ่งแจ้ง เมื่อทรงได้สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ท่านจึงทรงปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้ และทำการสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง จากนั้นพระราชทานนามว่า วัดแจ้ง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ที่ได้ทำการอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ทรงสถาปนาพระอุโบสถและพระวิหารหลังใหม่ พร้อมทั้งอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จพระองค์ก็เสด็จสวรรคต หลังจากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) จึงทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดอรุณราชธาราม ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดอรุณราชวราราม
สำหรับ วัดอรุณราชวราราม นั้นได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานของชาติ ขึ้นตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พุทธศักราชที่ 2492 และประกาศระวางแนวเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 72 ตอนที่ 14 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พุทธศักราชที่ 2498
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
1. พระปรางค์
“พระปรางค์วัดอรุณฯ” ที่โดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งองค์ที่เห็นในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่พระปรางค์องค์เดิมที่มีมาตั้งแต่แรก พระปรางค์องค์เดิมนั้นสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสูงเพียง 8 วา หรือ ประมาณ 16 เมตร เท่านั้น แต่พระปรางค์ที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ได้มีการต่อเติมขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อคราวที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พระปรางค์องค์ที่บูรณะใหม่นี้มีขนาดความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ที่น่าทึ่งก็คือ การที่จะสร้างพระปรางค์องค์สูงใหญ่อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ และยังคงแข็งแรงมาจนถึงทุกวันนี้ได้นี้แสดงว่าฝีมือของช่างในสมัยนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
สำหรับองค์พระปรางค์นั้นได้ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ ซึ่งก็คือ ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด โดยมีสัณฐานดุจเขาพระสุเมรุ ด้วยความกว้างราวๆ 234 เมตร ส่วนตัวเรือนฐานได้มีการย่อมุมลงไว้ และเรือนยอดที่ได้ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ในแต่ละชั้นนั้นจะมีช่องรูปกินนรและกินรีอยู่ด้วย เชิงบาตรเหนือช่องจะมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกันไปมา และเหนือขึ้นไปอีกเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า จุดที่เหนือขึ้นไปอีกนั้นเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมซึ่งจะอยู่เหนือซุ้มคูหา ส่วนยอดปรางค์เป็นพระมหามงกุฎนภศูล
2. ยักษ์วัดแจ้ง
เราจะเห็นได้เลยว่า บริเวณซุ้มประตูทางเข้าของพระอุโบสถนั้นจะมี “ยักษ์วัดแจ้ง” ที่มีชื่อเสียงยืนเฝ้าประตูอยู่จำนวน 2 ตน ตนแรกคือ ยักษ์กายสีขาว มีชื่อว่า “สหัสเดชะ” และตนที่สองคือ ยักษ์กายสีเขียว มีชื่อว่า “ทศกัณฐ์” ซึ่งเป็นยักษ์ศิลปะแบบจีน ที่ใช้ปูนปั้นประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี ส่วนมือถือตะบองใหญ่เป็นอาวุธ ทางด้านบริเวณหน้าซุ้มทางเข้าพระอุโบสถ นั้นได้แฝงไว้ด้วยคติความเชื่อในการทำหน้าที่เป็นเทพพิทักษ์ ที่คอยปกปักรักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา
3. พระอุโบสถ
ทางด้านพระอุโบสถหลังนี้ ได้ก่อสร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 2 โดยจะเป็นอาคารยกพื้นสูง หลังคาลด 2 ชั้น ซึ่งมุงด้วยกระเบื้องสีเหลือง และมีขอบเป็นกระเบื้องสีเขียวใบไม้ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่ได้ลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจก ซึ่งจะไม่มีกำแพงแก้วแต่มีพระระเบียงแทน โดยพระอุโบสถหลังเดิมนั้นถูกสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ทว่าในภายหลังได้ถูกเพลิงไหม้ มาถึงสมัยรัชสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านจึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการปฏิสังขรณ์จนดีดังเดิม รวมทั้งยังทรงสั่งให้ทำการบูรณะจิตรกรรมภายในใหม่ แต่ให้คงเค้าของเดิมเอาไว้มากที่สุด
ภายในอุโบสถยนั้นมีพระประธานชื่อว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ในรูปแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีหน้าตักกว้าง 3 ศอกคืบ ตั้งประดิษฐานอยู่เหนือแท่นไพทีบนฐานชุกชี โดยมีการกล่าวกันว่าสมัยรัชกาลที่ 2 ท่านทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง อีกทั้งเมื่อถึงรัชกาลที่ 4 ท่านได้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 นำมาบรรจุเอาไว้ที่พระราชอาสน์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลกอีกด้วย นอกจากนี้ภายในโบสยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน เป็นภาพพุทธประวัติ มารผจญ และเวสสันดรชาดก เป็นต้น
4. พระวิหาร
สำหรับ พระวิหาร นั้นเป็นอาคารยกพื้นสูง มีบันไดทางขึ้น-ลงที่อยู่ด้านข้างของมุข ไม่ว่าจะทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาลด 3 ชั้น ส่วนทางผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีลายก้านแย่งที่ได้สั่งนำเข้ามาจากเมืองจีน ภายในพระวิหารได้ตั้งประดิษฐาน พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร พระพุทธรูปปางมารวิชัย ทีมีขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก ซึ่งหล่อด้วยทองแดงปิดทอง โดยมีประวัติว่า รัชกาลที่ 3 ท่านทรางได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นมาพร้อมกับพระประธานในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ที่อยู่ฝั่งพระนคร
5. ลอดพระแท่นพระเจ้าตาก
โบสถ์น้อย สันนิษฐานว่าเป็นโบสถ์เดิมของวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะเป็นอาคารทรงเตี้ย มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม่มีกำแพงแก้ว ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อรุ่งมงคล พระพุทธรูปศิลปะสมัยอยุธยาองค์ใหญ่ พระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระแท่นของพระเจ้าตาก สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2310 ซึ่งมีความเชื่อต่อมากันว่า หากใครที่ได้ลอดพระแท่นนี้จะช่วยล้างอาถรรพ์ ช่วยปัดเป่าบรรดาสิ่งที่ไม่ดีออกไป และยังช่วยหนุนดวงและเสริมบารมี ทำให้พบกับโชคดี (เป็นความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณ)
วัดอรุณราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ไหน
วัดอรุณฯ นั้นถือได้ว่าเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ซึ่งหมายถึงพระอารามที่พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระราชินี รวมถึงสมเด็จพระยุพราช ทรงรับสั่งให้สร้างหรือปฏิสังขรณ์ขึ้นเป็นการส่วนพระองค์ โดยตั้งอยู่ที่แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ทั้งยังอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวังเดิม
• สถานที่ตั้งของวัด : เลขที่ 34 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เรียกได้ว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญและควรไปที่อยู่ในกรุงเทพฯ วัดแห่งนี้มีความสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยเรามาอย่างยาวนาน วัดแจ้งนั้นมีสถาปัตยกรรมที่งดงามและเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ทางวัดยังมีพระบรมรูปที่สำคัญอย่างพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งที่วัดแห่งนี้ยังมีกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมที่น่าสนใจอยู่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การทำบุญ การนมัสการ และการเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาพุทธ นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงอีกมากมาย เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว และถนนคนเดินเยาวราช ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คุณต้องไม่พลาดเมื่อมาเยือนกรุงเทพฯ